ซาวด์มีเดีย เทรดดิ้ง จำหน่ายวิทยุสื่อสารและไฟไซเรน ปลีก-ส่ง สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
ข้อมูลข่าวสาร

มือใหม่ต้องทำยังไง

โพสเมื่อ 2012-10-04 15:11:07
พิมพ์หน้านี้
ดาวน์โหลด PDF

อยากเป็นนักวิทยุสมัครเล่น  บางคนอบรม-สอบ จนได้รับใบประกาศแล้ว  ทำงัยต่อดี  อยากเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่ผู้เขียนก้าวเข้ามาสู่วงการนี้

สมัยก่อนการสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น ไม่เหมือนกับสมัยนี้เพราะเรียกได้ว่าเป็นการสอบความรู้จริง ๆโดยไม่มีการอบรมก่อนล่วงหน้าเหมือนอย่างในปัจจุบัน  รูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะคล้าย ๆกับเวลาที่เราไปสอบใบขับขี่  คือมีช่วงของการอบรมความรู้พื้นฐานและในบางที่อาจเป็นการใบ้ข้อสอบกลาย ๆด้วยซ้ำ  ผมไม่ได้ต่อต้านการอบรมและสอบกลับเห็นว่ามีข้อดีกว่าตรงที่เป็นการอบรมจากเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่เหมือนที่เราต้องไปหาตัวอย่างข้อสอบเองนึกเอง เมื่อไม่มีการอบรมล่วงหน้า  ผู้ที่เข้าสอบสมัยก่อนจึงต้องมีการเตรียมตัวอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานด้านไฟฟ้า - อิเลคทรอนิคส์ ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควรกับคนที่ไม่ได้เรียนทางนี้มาก  แต่ก็ชดเชยกันไปกับข้อสอบด้านกฏหมายที่ต้องใช้ความจำและเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสายช่างไม่ค่อยชอบ

หลังการสอบ กรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเวลานั้นจะทำการออกใบประกาศนียบัตรให้  ซึ่งเราต้องใช้เป็นหลักฐานในการติดต่อซื้อเครื่องให้เรียบร้อยก่อน  จึงจะมีสิทยิ์ในการขอสัญญาเรียกขาน  แต่ปัญหามันเกิดตอนช่วงที่จะซื้อเครื่องมือสื่อสารนี่แหละ  สมัยก่อนโน้น ภายใต้กฏหมายความมั่นคง  การครอบครอง  การจำหน่าย  เครื่องมือสื่อสารเป็นอะไรที่ยุ่งยากที่จะได้รับอนุญาตจากฝ่ายเจ้าหน้าที่  การดำเนินการเพื่อขอซื้อจะต้องมีการสอบประวัติผู้ต้องการซื้อ  มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ เหมือนกับการซื้ออาวุธปืนเลยทีเดียว  อีกทั้งเครื่องมือสื่อสารที่ซื้อได้มีราคาแพงมาก  เป็นเหตุให้มีผู้สอบได้รับใบประกาศแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อเป็นจำนวนมาก เหมือนอย่างผมเป็นต้น  ผมเพิ่งมารู้ว่าสามารถขอรหัสเรียกขานได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องมือสื่อสาร ก็เมื่อปี พ.ศ.2553 นี่เอง  ตอนที่ไปร้านวิทยุสื่อสารแล้วกำลังจะซื้อวิทยุย่านความถี่ประชาชน (หรือที่เรียกว่า "เครื่องแดง" คนขายก็พูดแต่ว่าเครื่องแดงไม่ต้องสอบ ถ้าเครื่องดำต้องสอบ อะไรประมาณนี้)  จากความเป็นมาดังกล่าว จึงเกิดเป็นที่มาของงานอดิเรกใหม่ที่ผมละทิ้งไปเสียนาน นั่นคือ การเป็น นักวิทยุสมัครเล่น แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  แต่ก็อย่างว่า "ความสบายใจ มักอยู่เหนือเหตุผล"

การจะเป็นนักวิทยุสมัตรเล่นในยุคนี้ ไม่ยากเหมือนสมัยก่อน  เมื่อท่านได้ใบประกาศนียบัตรมาแล้ว  ท่านสามารถดำเนินการซื้อเครื่องมือสื่อสาร  พร้อมกับขอสัญญาณเรียกขานได้พร้อมกันเลย  หรือใครจะไปขอรหัสเรียกขานก่อนแล้วมาซื้อเครื่องก็ได้เหมือนกันโดยจะได้เป็นบัตรประจำตัวพนักงานวิทยุสมัครเล่น (รูปร่างคล้ายบัตรประชาชน) เสียค่าดำเนินการ ๒๐๐ บาท (บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ๑๔ บาท) ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ กสทช. หรือเว็บนี้ในหัวข้อ "ข่าวจากซอยสายลม" ก็ได้

หลังจากเสียตังค์ให้รัฐสำหรับค่าบัตร  ก็ถึงคิวเสียตั้งค์ให้ร้านได้ ท่านต้องมานั่งคิดต่อไปว่าจะซื้อเครื่องอะไรดี ช่วงนี้ท่านต้องหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพื่อประกอบการตัดสินใจ  อย่างผมทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ก็เปิดดูจากอินเตอร์เน็ต  เว็บบอร์ดอย่าง "100 วัตต์" (http://www.100watts.com) หรือหนังสือนิตยสารเป็นต้น (ขอบอกไม่ได้ค่าโฆษณาเลยซะแดง)

ถ้าท่านไม่ได้มีเงินขนาดที่ว่าสามารถซื้อทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ควรพิจารณาปัจจัยในการพิจารณาเครื่องวิทยุเครื่องแรก ดังนี้

  • ระยะเวลาส่วนใหญ่ที่ท่านจะใช้วิทยุ (พกติดตัว, ในรถ, ที่ทำงาน หรือในบ้าน)
  • วิทยุทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีสายอากาศ  นอกจากท่านจะใช้เครื่องแฮนดี้ที่มาพร้อมกับเสายางหรือเสาสไลด์  แต่เพื่อระยะทางให้สามารถรับ-ส่งได้ไกลขึ้นให้พิจารณาที่จะติดตั้งเสาอากาศนอกตัว  ซึ่งจะเป็นเสาอากาศติดตั้งที่บ้านหรือเสาอากาศติดตั้งที่รถยนต์  หาอ่านเรื่องสายอากาศได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆมากมายสำหรับเริ่มต้นผมว่าเสาติดรถยนต์ก็เป็นทางเลือกที่ดีอันหนึ่งเพราะเคลื่อนย้าย ไปมาได้โดยใช้ที่ยึดแบบแม่เหล็ก
  • แหล่งจ่ายพลังงาน ถ้าเป็นเครื่องแฮนดี๊ ก็จะเป็นแบตเตอรีแพค หรืออเด็ปเตอร์ที่เรียกว่าเซอร์เวอร์ มีปลั๊กต่อเข้ากับที่จุดบุหรี่รถและสามารถต่อกับเครื่องจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงหรือที่เรียกว่าเพาเวอร์ซัพพลาย  สำหรับเครื่องแอนดี้ควรจ่ายไฟตรงได้ไม่น้อยกว่า 3 A ส่วนเครื่องโมบายด์ควรจ่ายไฟได้ไม่น้อยกว่า 30 A

โจทย์ของผมคือ ต้องการมีเครื่องวิทยุที่ใช้ได้ที่ บ้าน, รถยนต์ และที่พักใน กทม.ซึ่งอยู่บนอาคารสูง ผมจึงเลือกที่จะจัดหาเครื่องมือถือก่อนเพราะสะดวกกับการย้ายไปมาระหว่างสามที่นี้ แต่อันนี้แล้วแต่ความเห็นแต่ละท่าน โดยส่วนตัวไม่ชอบพกติดตัวเพราะมันเกะกะ  อุปกรณ์ประกอบเครื่องผมได้แก่ ไมค์นอก, แพกถ่าน, อะแดปเตอร์เสียบที่จุดบุหรี่ และเพาเวอร์ซัพพลายตัวเล็กย้ายไปมาระหว่างบ้านกับที่พักในเมือง  จะสังเกตุว่าผมไม่ได้ลงทุนอะไรกับเสาอากาศเลยในช่วงนั้นซึ่งนับเป็นข้อผิดพลาดอย่างแรง  ผมทนใช้อยู่กับเสายางไป ๆมา ๆอยู่ตั้งนาน  โดยนึกแปลกใจว่าทำไมมันไม่ได้ยินใครเลย  เลยตัดสินใจซื้อเสาติดรถยนต์พร้อมเมาส์แม่เหล็กเพราะมันย้ายไปมาได้สะดวก  ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะรับได้มากกว่าเดิมคุยถึงอีกต่างหาก  แต่ว่าก็ว่าใครที่เป็นสถานีเบสตอนนั้นรับผมได้คงรำคาญเหมือนกันกว่าเราจะรู้ว่ารับสัญญาณจากเสายางเป็นงัยก็ตอนที่เรามีสถานีบ้านแล้วนั่นแหละ  ใครจะไปรู้ว่าเขาจะรับเราลำบากก็เรารับเขาออกชัดเจน;)

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญหลังจากมีเครื่องมือพร้อมสื่อสารแล้ว  อย่าลืมทำใบอนุญาตให้ครบ  ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตมี-ใช้เครื่อง (500 + VAT), ใบอนุญาตตั้งสถานบ้าน และยานพาหนะ(1000 + VAT ที่กำลังส่งไมเกิน 10 วัตต์  อย่าไปขอตามกำลังส่งจรงที่ร้านปรับมาให้แล้วกัน)

และแล้วก็ถึงเวลา...ออกอากาศ ถ้าท่านรู้จักเพื่อนที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นอยู่แล้วกิจกรรมนี้ก็จะง่ายขึ้นเยอะเพราะท่านสามารถนัดหมายเวลากับคนที่ท่านรู้จักกันดีและกล้าพูดคุยได้โดยไม่เกร็ง  แต่กับผมในตอนแรกไม่รู้จักใครก็ได้แต่นั่งจดๆ จ้องๆว่าจะทำอย่างงัยอยู่หลายเดือน  จนได้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพาขึ้นความถี่จนได้และชวนคุยอย่างสนุกสนาน (ด้วยความระลึกถึงท่าน อยู่เสมอ คือ ท่าน HS0MRR) ทำให้กล้าพูดกล้าคุยมาถึงทุกวันนี้ได้  จริงอยู่ที่การสนทนาหรือ QSO บนความถี่ควรจะมีสาระ กระชับ และได้ใจความ  แต่การฝึกฝนให้เคยชินก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน  เพราะท่านต้องพร้อมเสมอในการพนักงานวิทยุสมัครเล่นทั้งในยามปกติ และยามคับขัน  นักวิทยุสมัครเล่น คือ "ผู้ที่ค้นคว้าหาความรู้ด้านการสื่อสาร และมีจิตอาสาให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส" หวังว่าท่านที่เป็นมือใหม่เหมือนผมเมื่อเข้ามาวงการนี้ใหม่ คงได้รับประโยชน์บ้างจากบทความนี้